มหากาพย์เรือดำน้ำไทย หลังจากปลดระวางในปี 2494 ก็ไม่เคยมีอีกเลย

สนับสนุนทีมงาน : K-Bank 092-3-18740-5
ติดต่อ/แจ้งหมายข่าว : [email protected]
สนใจลงโฆษณา : https://thaipress.co/files/ads.pdf

พ.ศ. 2480 ประเทศไทยเคยมี “เรือดำน้ำ” เข้าประจำการในครั้งแรก ก่อนหน้านั้นทางกองทัพเรือได้เซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2478 สร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก ระวางขับน้ำ 370 ตัน จำนวน 4 ลำ และส่งมอบ 2 ลำแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 และอีก 2 ลำต่อมาเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง และภารกิจที่สำคัญต่าง ๆ

พ.ศ. 2494 กองทัพเรือปลดระวางเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ

พ.ศ. 2553 กว่า 61 ปีต่อมา ใน พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ หรือ “บิ๊กติ๊ด” ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น ได้มีนโยบายจะจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรักษาเส้นทางคมนาคมของประเทศทางทะเล ซึ่งใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าในยามสงบ กับยุทโธปกรณ์ในยามสงคราม ทั้งเข้าและออกจากประเทศ

ซึ่งหากไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ ก็จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนขีดความสามารถของกองทัพไทยในยามสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์ และยุทธปัจจัยจากภายนอกประเทศ

ดังนั้น “เรือดำน้ำ” จะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ในทางลับได้เป็นอย่างดี การที่กองทัพเรือมีเรือดำน้ำจะทำให้ประเทศที่เป็นศัตรูไม่กล้าที่จะส่งกำลังทางเรือ เข้ามาปฏิบัติการรุกรานอาณาเขตทางทะเลของประเทศและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของไทย

ด้านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป้อม” พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ได้ไฟเขียวให้กองทัพเรือไทยให้จัดหา “เรือดำน้ำ” (ไม่ระบุประเทศผู้ผลิต) แต่เมื่อทำเรื่องของบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ 2 ลำ วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท โครงการฯ ได้ถูกตีกลับเนื่องจากใช้งบประมาณมากเกินไป ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้

ขณะที่กองทัพเรือกำลังอกหัก กลับได้ข่าวดีมาว่า กองทัพเรือเยอรมนีเตรียมปลดระวางเรือดำน้ำแบบ U-206 A จำนวน 6 ลำ พอดี ทำให้สามารถขอซื้อเรือดำน้ำมือสองในราคาถูกได้ ซึ่งหลังการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ได้ข้อตกลงที่ตัวเลข 7.6 พันล้านบาท พร้อมแพคเก็จเครื่องฝึกระบบปฏิบัติการจำลองแบบจริง ระบบอาวุธ อะไหล่อุปกรณ์ ตอร์ปิโดรุ่นใหม่ ทุ่นระเบิด และส่งกำลังพลไปฝึกที่เยอรมนี

แต่ในการซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนี จะต้องบำรุงและซ่อมแซมใหม่ทั้งลำ และเรือดำน้ำสามารถใช้ปฏิบัติภารกิจได้จะเหลือเพียง 4 ลำ ส่วนอีก 2 ลำถูกนำมาใช้เป็นอะไหล่ และนำไว้ศึกษา และมีข่าวโจมตีออกมาเรื่อย ๆ ถึงความคุ้มค่า รวมถึงค่าคอมมิชั่นในโครงการฯ ด้วย ด้าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ก็ไม่ได้มีแอคชั่นอะไรเพิ่มเติมในการจัดหาเรือดำน้ำของเยอรมนี จนมีข่าวลือออกมาว่าจะเปลี่ยนโครงการไปซื้อเรือดำนำของเกาหลีแทน

29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 จนสุดท้ายโครงการนี้ต้องพับไป เนื่องจากเลยกรอบเวลาที่ทางกองทัพเรือเยอรมนีกำหนด

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โครงการก็ได้กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง พล.อ.ฉาง ว่าน ฉวน มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ในขณะนั้น

28 เมษายน 2558 ครม. ได้อนุมัติหลักการให้จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ จากนั้นกองทัพเรือสำรวจอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำของโลก พบว่ามี 6 แห่ง แต่ ข้อเสนอที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุดอยู่ที่จีน

กรกฎาคม พ.ศ. 2559 กระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติความต้องการเรือดำน้ำ 3 ลำ

18 เมษายน พ.ศ. 2560 ครม.ได้อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T)จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพัน ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำรวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี

4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในประเทศจีน

7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ 2/1 ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยกองทัพเรือได้ชงคำของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท

มีการแบ่งชำระเงินรายปีออกเป็น ปี 2563 3,375 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท และ ปี 2569 จำนวน 3,500 ล้านบาท รวม 22,500 ล้านบาท

8 มกราคม พ.ศ. 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในส่วนของมาตรา 8 งบกระทรวงกลาโหม “นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายขอให้ตัดงบซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3

พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลขอให้แต่ละหน่วยงานโอนงบประมาณ 2563 มาแก้ปัญหาโควิด-19 โดยกองทัพเรือได้คืนงบจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวด้วย

กองทัพเรือคืนงบประมาณก้อนแรก จึงของดการจ่ายเงิน 3,375 ล้านบาท เป็นการชะลอโครงการ นำไปรวมกับงบประมาณอื่น ๆ ที่กองทัพเรือปรับลดลงได้ โอนคืน 4,130 ล้านบาท ทำให้กองทัพเรือแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดการจัดหาใหม่ ชะลอการจ่ายงวดแรกออกไปก่อน

6 มกราคม พ.ศ. 2564 พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า กองทัพเรือชะลอการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 แล้ว อยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งยอมรับว่ามีข้อจำกัดเยอะ เรามีเรือดำน้ำลำที่ 1 แล้ว ดังนั้นลำที่ 2 และ 3 ก็ต้องมา แต่จะมาเมื่อไหร่ก็ต้องว่ากันไป

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 กองทัพเรือ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยไม่มีเครื่องยนต์ ชนิดดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่เยอรมันเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเยอรมันไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน แสดงว่ากองทัพเรือโดนหลอกทำสัญญาหรือไม่นั้น

ขอชี้แจงว่าในการทำข้อตกลงจ้างฯ นั้น กำหนดให้เรือดำน้ำแบบ S26T มีเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมันได้ จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel Generator Set) ชัดเจน แต่เนื่องจากภายหลังเยอรมัน มีนโยบายการระงับการส่งออก (Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลของเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมัน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข

เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมัน ตามข้อตกลงไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ทางจีนจะต้องทำตามข้อตกลง โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างกองทัพเรือกับบริษัท CSOC ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ทั้งนี้การดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงจ้างฯ รวมทั้งระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยกองทัพเรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า