
ปี 2535 : พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯ กทม.
มีแนวคิดสร้างรถไฟฟ้า กลุ่มธนายงของคีรี (ขณะนั้นทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก) ชนะประมูลได้รับสัมปทานสร้างและจัดการเดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปีนับจากวันที่เปิดให้บริการ โดยเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและวางระบบทั้งหมดรวมมูลค่า 54,925 ล้านบาท จึงก่อตั้งบริษัทย่อยในชื่อบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) สัญญานี้ครอบคลุมรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) และสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) รวม 23.5 กิโลเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี 2542 ทำให้สัญญาสัมปทานจะมีอายุถึงธันวาคม ปี 2572 (เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2553)
ปี 2548 : นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.
ตัดสินใจสร้างส่วนต่อขยาย โดย กทม. จ่ายเงินลงทุนสร้างโครงสร้างเองทั้งหมด แต่จ้างบีทีเอสซีให้เดินรถและซ่อมบำรุง แต่ กทม. ไม่ได้จ้างบริษัทโดยตรง ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้จัดหารถมาวิ่ง แต่กรุงเทพธนาคมก็ไปจ้างบีทีเอสซีอีกต่อหนึ่ง เท่ากับว่าทั้งเดินรถ และจัดหาขบวนรถ ทำโดยบีทีเอสซี ข้อดีคือ ส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีสะพานตากสิน-สถานีวงเวียนใหญ่ เปิดให้บริการในปี 2552 และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดตามมาในปี 2554 รายได้จากค่าโดยสารของส่วนนี้จึงเข้ามายัง กทม. โดยตรง
ปี 2551 : นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
ตามแผนแม่บทจะมีการขยายออกไปอีก 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และฝั่งใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ เส้นทางนั้นล้ำเกินไปนอกเขตอำนาจของ กทม. จึงมีมติให้ รฟม. เป็นผู้ก่อสร้างส่วนต่อขยายที่เหลือทั้งสองส่วนไปก่อน ด้วยงบ 6 หมื่นล้านบาท
ปี 2555 : หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.
ทำสัญญาส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และสายสุขุมวิทจากสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง สัญญาฉบับนี้ยังคลุมไปถึงเส้นทางสัมปทานเดิม 23.5 กิโลเมตรที่บีทีเอสซีได้รับมาตั้งแต่ปี 2535 ด้วย โดยระบุว่าหลังจากบีทีเอสซีหมดสัมปทานแล้วในปี 2572 ก็ให้รับจ้างเดินรถเส้นทางนี้ต่อไปจนถึงปี 2585 รวมมูลค่าวงเงินว่าจ้างทั้งหมด 187,800 ล้านบาท แต่ฝั่ง กทม. ยืนยันว่านี่เป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่า เพราะหลังหมดสัมปทานในปี 2572 บีทีเอสซีจะได้รับเพียงค่าจ้าง แต่ กทม. จะกลายมาเป็นเจ้าของ ผู้มีสิทธิกำหนดราคาค่าโดยสารและรับรายได้ทั้งหมดโดยตรง
ปี 2558 : พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รมว.กระทรวงคมนาคม, คสช.
กระทรวงคมนาคม ตกลงให้ กทม. เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยาย ฝั่งเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และฝั่งใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง กทม. จึงต้องรับโอนหนี้ค่าการก่อสร้างโครงสร้างราว 6 หมื่นล้านบาทจาก รฟม.
ปี 2559 : หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.
กรุงเทพธนาคมได้เริ่มทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถทั้ง 2 สาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นเวลา 25 ปี มูลค่ากว่า 160,000 ล้านบาท โดยสัญญาจะไปสิ้นสุดในปีเดียวกันกับอีกฉบับที่เหมาไว้คือปี 2585