
เข้าสู่คาบเรียนประวัติศาสตร์กันเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 64 ช่วงกลางคืนได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ร้านขายวัตถุไวไฟแห่งหนึ่งในกรุงโรม ประกอบกับการที่ถนนกรุงโรมในช่วงนั้นแคบ ทำให้ไฟจากร้านค้าวัตถุไวไฟนั้น ลุกลามไปยังบ้านเรือนหลังอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ในไม่นานไฟก็ไหม้ทั่วเมือง “นีโร คลอดิอุส ซีซาร์ ดรุสซุส” (Nero Claudius Caesar Drusus) ผู้เป็นจักรพรรดิ รัชกาลที่ 5 ที่สุดจะอินดี้ เมื่อทราบข่าวก็รีบมาดูเปลวเพลิงที่หอคอยมิเซนุส (Maecenas) แล้วก็บอกว่าเปลวเพลิงนั้นช่างสวยงาม นั่งมองไฟผลาญกรุงโรมอย่างสบายอารมณ์ พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีมาบรรเลงอย่างสุนทรีย์โดยไม่ส่งทหารไปช่วยดับไฟ

เปลวเพลิงได้ผลาญกรุงโรมมาตลอด 6 วัน 6 คืน ดับลงในวันที่ 7 เผาบ้านเรือนไป 132 หลัง ใน 4 หมู่บ้าน นีโรฯ สั่งให้เวนคืนที่ดินจำนวนหนึ่งมาสร้างพระราชวังทองคำ (Golden Palace) ประกอบกับการที่นีโรไม่ส่งทหารไปช่วยดับไฟ และในอดีตพระองค์เคยคิดจะเปลี่ยนชื่อกรุงโรมเสียใหม่ว่า กรุงนีโรโพลิส (Neropolis) ประชาชนจึงปักใจเชื่อว่านีโรเป็นผู้เผากรุงโรม (นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเองก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่นีโรจะเป็นผู้เผากรุงโรม) ทำให้ ประชาชนคลางแคลงใจในนีโรฯ จนเกิดเป็นคำติดปากประชาชนชาวโรมว่า “เนโรเผาโรม” (Nero Burning Rome)

จากนั้นอีก 1933 ปีต่อมา (ค.ศ. 1997) บริษัท Ahead Software ของเยอรมนี ต้องการผลิตโปรแกรมสำหรับเขียนแผ่น CD ขึ้น จึงได้ประชุมกับพนักงานกันว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ก็มีพนักงานคนหนึ่งออกความคิดเห็นว่า “เวลาจะเขียนข้อมูลลงแผ่น จะใช้คำว่า Write หรือไม่ก็ Burn” ลองนำชื่อพวกนี้มาตั้งดูไหม “ลองเป็น Write CD, Burn CD, Burning CD” หรือน่าจะใช้คำว่า ROM ที่หมายความว่าความจุ อย่าง “Burning Rom” ดูนะ
ด้วยความบังเอิญจากประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน ที่เยอรมนีเคยโดนครอบครองจากโรมัน ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง “นีโรฯ” คำว่า “Burning Rom” จึงไปคล้องกับ “Burning Rome” หรือ “Nero Burning Rome” จึงมีผู้แนะนำว่าใช้ชื่อ “Nero Burning ROM” ไปเลย ยิ่งตอกย้ำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้ชัด ด้วยการใช้ Logo เป็นโคลอสเซียม สัญลักษณ์กรุงโรม กำลังโดนไฟไหม้ อีกด้วย
